“แสวง” ลั่น ผู้สมัคร สว. อย่าโทษแต่ กกต. หลังถูกตัดสิทธิ์ อ้างไม่รู้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองไม่ได้ แจง ปรับรูปแบบบัตรเลือกให้ชัดเจน ป้องกันบัตรเสีย-สกัดฮั้ว

เมื่อเวลา 11.15 น. วันที่ 30 พ.ค. 2567 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. แถลงกรณีมีผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา (สว.) มีลักษณะต้องห้ามเป็น สว. 2,020 คน และพบว่าส่วนใหญ่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง ว่า ขณะนี้มีผู้สมัครสว.ที่มีลักษณะดังกล่าวมายื่นร้องต่อกกต. ซึ่งในข้อเท็จจริงจะต้องไปร้องต่อศาลฎีกา ภายใน 3 วัน

เรื่องลักษณะต้องห้ามการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง กกต.ได้ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องก่อนการสมัครว่า ผู้ที่เป็นผู้บริหารพรรคการเมืองต้องพ้นจากตำแหน่งไม่น้อยกว่า 5 ปี ส่วนคนที่เป็นสมาชิกพรรค หากมีหลักฐานว่าได้ยื่นลาออกแล้วกระทั่งในวันลงสมัคร ผอ.การเลือกสว.ก็จะรับสมัครให้อยู่แล้ว

การพ้นจากการเป็นสมาชิก หากมายื่นลาออกต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองที่สำนักงานกกต.ก็จะมีผลทันที ที่ผ่านมาเราอนุโลมให้ยื่นลาออกที่สำนักงานกกต.จังหวัดด้วย

แต่ถ้าไปยื่นลาออกกับนายทะเบียนสมาชิกพรรค คือการยื่นที่พรรค ทางพรรคจะต้องกรอกข้อมูลเข้าระบบฐานข้อมูล ซึ่งจะมีการแจ้งให้กกต.ทราบภายใน 15 วัน การส่งข้อมูลนั้นอาจจะล่าช้า แต่กกต.ก็ยึดหลักฐานใบลาออก ถ้าผู้สมัครมีหลักฐานดังกล่าวก็จะมีการรับสมัครทุกราย

“ดังนั้น จะมาโทษกกต.ไม่ได้ เพราะการเป็นสมาชิกพรรค พรรคเป็นผู้กรอกข้อมูลเข้าไปในระบบ และสามารถตรวจสอบได้ ตอนนี้ก็ต้องไปสู้ในชั้นศาลฎีกาเอา และในส่วนของ 2,020 คน ถูกตัดสิทธิจะกระทบกับจำนวนกลุ่มภายในอำเภอ และจะกระทบกับการเลือกไขว้หรือไม่ ตรงนี้ยังต้องตรวจสอบเพิ่มเติม” นายแสวง กล่าว

นายแสวง กล่าวถึงกรณีกกต. ออกระเบียบกกต.ว่าด้วยการเลือก สว. ฉบับที่ 2 พ.ศ.2567 ซึ่งมีการแก้ไขเกี่ยวกับบัตรเลือกสว.ว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากสำนักงาน ซึ่งทุกการเลือกตั้ง สิ่งที่สำนักงานตระหนัก คือ ทำให้ทุกคะแนนเสียงมีค่าได้อย่างไร และรักษาเจตจำนงของผู้ลงคะแนน

การเลือกสว.ครั้งนี้มีลักษณะเฉพาะ ทุกคนเป็นผู้มีสิทธิเลือก และเป็นผู้มีสิทธิได้รับเลือก ซึ่งในการเลือกไขว้ระดับประเทศ ผู้เลือกจะมีคะแนนเสียงถึง 10 คะแนน และในมาตรา 56 (6) ของพ.ร.ป.การได้มาซึ่ง สว. 2561 ได้กำหนดรูปแบบบัตรเสียไว้ว่า ถ้าไปเขียนหมายเลขประจำตัวของผู้ไม่มีสิทธิได้รับเลือก จะกลายเป็นบัตรเสียทั้งฉบับ ทั้งๆ ที่ช่องอื่นๆ ในบัตรเดียวกันนี้อาจจะเป็นบัตรดี หลายเลขคนอื่นถูกทั้งหมด

สมมติว่า ในวันเลือกสว. มีผู้ไม่มารายงานตัวหรือตกรอบในช่วงเช้า ช่วงบ่ายหากมีผู้สมัครไปเขียนหมายเลขผู้ตกรอบลงในบัตร บัตรนั้นจะเสียทั้งฉบับ ที่กฎหมายออกแบบมาเช่นนี้เพื่อป้องกันการฮั้ว สำนักงานกกต.ก็เห็นว่า ทำให้ผู้สมัครเสียประโยชน์

ดังนั้น ถ้ายังคงรูปแบบการออกเสียงในบัตรใบเดียวอาจจะทำให้ผู้สมัครเสียประโยชน์ จึงได้ออกแบบบัตรใหม่ โดยคิดว่าทำอย่างไรให้เสียหายน้อยที่สุด เพื่อให้ทุกคะแนนมีความหมาย และไม่ต้องมีใครเสียคะแนนจากปัญหาที่ไม่ใช่ความผิดเขา และเกิดประโยชน์ต่อผู้ที่มาสังเกตการณ์

เมื่อถามว่ามีผู้กังวลว่าการออกแบบบัตรเลือกสว.ใหม่นี้ จะเป็นการเปิดช่องให้เกิดการฮั้วกันง่ายขึ้น นายแสวง ถามกลับว่า จะทำให้เกิดการฮั้วตรงไหน ไม่ใช่พูดลอยๆ ต้องยกตัวอย่างว่าจะทำให้เกิดการฮั้วอย่างไร แต่สำหรับบัตรใหม่นี้ถ้าถามตน ตนมองว่าจะยิ่งทำให้เกิดการฮั้วยาก

ส่วนโอกาสที่จะสลับบัตรกัน แล้วหย่อนลงผิดหีบนั้นก็ไม่มี เพราะเราตั้งแถวแยกเป็นกลุ่มๆ ดังนั้น จะไม่มีโอกาสสลับ การแสดงตัวครั้งแรกคือการตรวจสอบว่า บัตรกับคนตรงกันหรือไม่ จำนวนเท่ากันหรือไม่แล้วค่อยนับ นั่นแสดงถึงความโปร่งใสมากขึ้น ประชาชนหรือผู้สมัครที่อยู่ในนั้นสามารถสังเกตการณ์ได้อย่างละเอียด

เมื่อถามถึงการดูแลความสงบเรียบร้อยในวันเลือกสว. นายแสวง กล่าวว่า ทางกกต.จะมีเจ้าหน้าที่ 2 ชุดในการดูแล คือ มีชุดรักษาความสงบ และชุดรักษาความปลอดภัยหลายร้อยคน กรณีมีผู้กังวลเรื่องการพกอาวุธเข้าไปในพื้นที่คิดว่าไม่น่าจะมี โดยเฉพาะผู้สมัครสว.โทรศัพท์ยังพกเข้าไปไม่ได้ สิ่งที่นำเข้าไปได้มีเพียงใบแนะนำตัวเอง (สว.3) และคู่มือที่ใช้ในการลงคะแนน นอกนั้นเอาอะไรเข้าไปไม่ได้ อาวุธยิ่งไม่ต้องพูดถึง

เมื่อถามกรณีคณะกรรมาธิ (กมธ.) การการเมือง สภาฯ และไอลอว์ ที่ขอเข้าไปสังเกตการณ์ ทางกกต.อนุญาตหรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า ในที่เลือกไม่มีคนเข้าไปได้ ส่วนนอกพื้นที่เลือกสว. ประชาชนทุกคนสามารถสังเกตการณ์ได้ กมธ.และไอลอว์ก็สิทธิเท่ากัน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน