FootNote : ปัญหาขัดแย้ง ประชาธิปัตย์ จุดสะท้อน การเมืองไทย วันนี้

ภาวะปั่นป่วนที่กำลังเกิดขึ้นจาก “ภายใน” ของพรรคประชาธิปัตย์ คือภาพสะท้อนอันเด่นชัด และเป็นรูปธรรมยิ่งของภาวะและความ ปั่นป่วนในทางการเมืองของไทย

นั่นก็คือ เป็นการปะทะและขัดแย้งกันระหว่าง “กลุ่มอำนาจเก่า” กับ “กลุ่มอำนาจใหม่”

ดำเนินไปในลักษณะ “ตัวแทน” ของแต่ละฝ่ายอย่างเด่นชัด

หากดูจากการเคลื่อนไหวของ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ก็จะสัมผัสได้ในบทสรุปจากด้านของ “กลุ่มอำนาจใหม่” และมองเข้าไปยังลักษณะของ “จระเข้” ที่นอนขวางคลองอยู่

นั่นก็คือ ภาพของ นายชวน หลีกภัย นั่นก็คือ ภาพของ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน ที่ความเอนเอียงต้องการให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หวนกลับมาเป็นหัวหน้าพรรค

กล่าวเฉพาะจุดขัดแย้งตรงหน้าอาจเป็นตำแหน่ง “หัวหน้าพรรค” แต่หากหยั่งลึกลงไปภายในรายละเอียด ก็จะเห็นถึงปมใหญ่ในทางการเมือง ซึ่งดำรงอยู่อย่างยาวนาน

นั่นก็คือ ปมอันเนื่องแต่การต่อสู้ระหว่างพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทย ที่ต่อจากพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน

นี่คือรากเหง้าแท้จริงของความขัดแย้งในการเมืองไทย

ความขัดแย้งนี้โยงไปยังสภาพการณ์ทางการเมืองตั้งแต่ พรรคไทยรักไทยปรากฏขึ้นในการเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคม 2544 พร้อมกับชัยชนะบนความพ่ายแพ้ของพรรคประชาธิปัตย์

นั่นก็เห็นได้จากรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 นั่นก็ต่อยาวมายังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

รอยแค้นที่พรรคประชาธิปัตย์มีต่อพรรคไทยรักไทย มีต่อพรรคพลังประชาชน และมีต่อพรรคเพื่อไทย จึงดำรงคงอยู่อย่างเหนียวแน่น

เมื่อมีท่าทีที่เปลี่ยนแปลงจากบางส่วนภายในพรรคประชาธิปัตย์อันถือว่าเป็น “กลุ่มอำนาจใหม่” จึงถูกสกัดและขัดขวางจากบางส่วนภายในพรรคอันถือได้ว่าเป็น “กลุ่มอำนาจเก่า”

การต่อสู้ผ่านการชิงตำแหน่ง “หัวหน้าพรรค” จึงเป็นหมุดหนึ่ง โดยเป้าแท้จริงอยู่ที่การร่วมหรือไม่ร่วมกับพรรคเพื่อไทย

ขณะเดียวกัน หากมองจากด้านของพรรคเพื่อไทย ก็ใช่ว่าความคิดที่จะดึงพรรคประชาธิปัตย์เข้ามาเป็นพันธมิตรในการจัดตั้งรัฐบาล จะดำเนินไปด้วยความราบรื่น

เพราะเป็นปมเหมือนพรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย

เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์ ก็เป็นองค์ประกอบหนึ่ง แห่งการสืบทอดอำนาจของพรรคพลังประชารัฐ และรวมถึงพรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา

นี่ย่อมเป็นปมที่ทั้งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยเอง ก็ต้องสะสางว่าจะดำเนินการอย่างไร

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน