บิ๊กป้อม สั่งยกระดับจัดการสาธารณภัยระดับ 3 บูรณาการแก้ไขท่วม ย้ำไม่ทอดทิ้งประชาชน

บิ๊กป้อม / เมื่อวันที่ 23 ก.ย. ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เปิดเผยว่า สถานการณ์อุทกภัยในช่วงที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่ 32 จังหวัด มีผู้เสียชีวิต 35 ราย พื้นที่การเกษตร สิ่งสาธารณูปโภค และเส้นทางคมนาคมได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก

ซึ่งรัฐบาลได้บูรณาการแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยได้น้อมนำพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ยึดถือเป็นแนวทางการปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาอุทกภัย โดยติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง การคิดปรับแนวทางแผนเผชิญเหตุทั้งในภาพรวม และเฉพาะเหตุที่อาจจะเกิดขึ้น และสำรวจรวบรวมความเสียหาย ประมาณการค่าใช้จ่าย ต่อยอด เตรียมการสิ่งใหม่ๆ และสิ่งที่ยังไม่ได้ทำ เพื่อลดผลกระทบและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเต็มความสามารถ

ทั้งนี้ สถานการณ์ในภาพรวมหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลายแล้ว แต่ยังคงมีสถานการณ์ใน 4 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งอุบลราชธานี ยโสธร ร้อยเอ็ด และศรีสะเกษ ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ได้กำชับทุกหน่วยงานให้ความสำคัญกับการดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 กฎหมาย และแผนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การบริหารจัดการสาธารณภัยและการให้ช่วยเหลือประชาชนในมิติต่างๆ เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และประชาชนได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากข้อมูลแนวโน้มสถานการณ์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงข้อมูลในเชิงพื้นที่พบว่าสถานการณ์อุทกภัยใน 4 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีความรุนแรงและส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง จึงยกระดับการจัดการสาธารณภัยเป็นการจัดการ สาธารณภัยขนาดใหญ่ (ระดับ 3) ในพื้นที่ 4 จังหวัดดังกล่าว ซึ่งเป็นไปตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2558

โดยจะเชื่อมโยงการทำงานใน 3 ส่วน ทั้งส่วนกลาง ส่วนหน้า และการบัญชาการในพื้นที่ ซึ่งมีการบูรณาการการปฏิบัติจากทุกหน่วยงาน พร้อมกำหนดแนวทางการดำเนินงาน แบ่งมอบภารกิจและพื้นที่รับผิดชอบตามแผนเผชิญเหตุ ทั้งนี้ ได้จัดตั้งกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (ส่วนหน้า) ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 13 อุบลราชธานี ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการประสานและเชื่อมโยงการทำงานในระดับพื้นที่ สำหรับพื้นที่ 28 จังหวัดที่สถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายแล้ว

บกปภ.ช.ได้ประสานให้จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจข้อมูลความเสียหายให้ถูกต้องและครบถ้วนทุกด้าน และจัดประชุมคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติระดับอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) และคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติระดับจังหวัด (ก.ช.ภ.จ) เพื่อให้ความช่วยเหลือในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะที่อยู่อาศัย ระบบสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐาน พื้นการเกษตร สถานบริการของรัฐ และสถานที่ที่เป็นศูนย์รวมจิตใจ ซึ่งได้เน้นย้ำให้วางแนวทางการฟื้นฟูและช่วยเหลือประชาชน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน และให้ประชาชนได้รับการช่วยเหลือครอบคลุมทุกด้านในทุกพื้นที่

ทั้งนี้ ขอยืนยันว่ารัฐบาลจะไม่ทอดทิ้งประชาชน โดยพร้อมดูแลประชาชนอย่างเต็มกำลัง ในรูปแบบการบูรณาการหน่วยงานทุกภาคส่วนทั้งหน่วยทหาร ฝ่ายพลเรือน และภาคประชาสังคม มุ่งบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยให้ได้มากที่สุด

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรองผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ กล่าวว่า บกปภ.ช.ได้ประสานจังหวัดใช้กลไกของกระทรวงมหาดไทยภายใต้กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (ส่วนหน้า) ในการประสานปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมอบหมายให้นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษมรองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้กำกับควบคุมพื้นที่ (Area Command) และมีผู้ตรวจราชการกระทรวง

รวมถึงส่วนราชการต่างๆ ในการบูรณาการการช่วยเหลือประชาชน สำหรับพื้นที่ที่สถานการณ์คลี่คลายแล้ว ให้เร่งสำรวจความเสียหาย โดยระบุพื้นที่เป้าหมายให้ชัดเจน พร้อมยึดการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง มุ่งเน้นการดูแลด้านชีวิตความเป็นอยู่และด้านที่อยู่อาศัยเป็นหลัก เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุดและดำเนินชีวิตได้ตามปกติโดยเร็ว

ที่ประชุมได้สรุปสถานการณ์น้ำท่วมในห้วงที่ผ่าน จากผลกระทบของพายุโพดุลและพายุคาจิกิที่ผ่านมา ได้สร้างความเสียหายโดยรวม ซึ่งยังมีอีก 4 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบ และต้องเร่งให้ความช่วยเหลือโดยด่วนได้แก่ อุบลราชธานี ,ยโสธร ,ศรีสะเกษ และร้อยเอ็ด และอีก 28จังหวัดที่สถานการณ์คลี่คลายลงแล้ว ซึ่งต้องได้รับการช่วยเหลือเยี่ยวยา ทั้งด้านที่อยู่อาศัย ที่ทำมาหากิน พื้นที่การเกษตร และการประกอบอาชีพ โดยมีพื้นที่ครอบคลุมทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน ขณะเดียวกันก็ยังอยู่ในช่วงฤดูฝน สถานการณ์น้ำท่วมจึงอาจยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องและต้องเฝ้าระวังต่อไป

พล.อ.ประวิตร กล่าวถึงความห่วงใยของ นรม. ที่มีต่อสถานการณ์น้ำท่วมและความเดือดร้อนของประชาชน และขอให้ทุกหน่วยงานได้ทุ่มเทปฏิบัติงานและน้อมนำพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติในการแก้ปัญหาโดยต้องมีการบูรณาการทำงานทุกภาคส่วนร่วมกับ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และจิตอาสาในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ได้บรรเทาความเดือดร้อน และสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติโดยเร็วที่สุดและให้ บกปภ.ช.ใช้กลไกตามกฎหมายในการดำเนินการในพื้นที่ 4 จังหวัดที่ยังมีสถานการณ์อุทกภัย เพื่อให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับพื้นที่ 28 จังหวัด ที่สถานการณ์คลี่คลายลงแล้ว ให้เร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อเตรียมฟื้นฟูทั้งการดำเนินชีวิต ที่อยู่อาศัย การประกอบอาชีพ และโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะ สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งยังอยู่ช่วงฤดูฝน ต้องมีการแจ้งเตือน สร้างการรับรู้ความเข้าใจให้ประชาชนเพื่อป้องกันและลดผลกระทบในพื้นที่เสี่ยงภัยก็ต้องเตรียมการไว้ด้วย

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน