คลังฝันเศรษฐกิจโตทะลุ 4% เร่งลงทุนภาครัฐ-ลุ้นส่งออกตีปีก จับตาปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ปิดแบงก์ทั่วโลก ยกเครื่องเก็บรายได้เข้ารัฐ ลดกู้โปะงบขาดดุล

วันที่ 22 มี.ค. 2566 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวได้ 3-4% ส่วนจะขยายตัวได้มากกว่านั้นหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ 2-3 ประเด็น คือ 1.การลงทุนภาครัฐ ต้องขยายตัวต่อเนื่อง จากที่ผ่านมาการลงทุนของรัฐ มีข้อจำกัดค่อนข้างมาก และมีสัดส่วนต่ำกว่าการลงทุนภาคเอกชน เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้รัฐต้องจัดสรรงบประมาณ โดยมุ่งดูแลเศรษฐกิจและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ

2.การขยายตัวของภาคการส่งออก แม้ว่าในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาหรือตั้งแต่ปลายปี 2565 การส่งออกจะขยายตัวติดลบทุกเดือน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ยังเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามความมีเสถียรภาพของเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป

3.ปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ จากความขัดแย้งของรัสเซีย-ยูเครน กระทบเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลต้นทุนสินค้า พลังงาน เพิ่มขึ้น และปัจจัยเรื่องระบบสถาบันการเงิน ที่มีการปิดธนาคารของสหรัฐ และในสหภาพยุโรป จะมีความเสี่ยงเพิ่มหรือไม่

“เศรษฐกิจไทยมีโอกาสเติบโตมากกว่าที่คาดไว้ 3-4% ต้องไปดูว่ามีปัจจัยอะไรบ้างที่จะมากระทบ และจะทำอะไรเพิ่มได้ ซึ่งยังมีในเรื่องของการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) การลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ เพิ่มทักษะต่างๆ หากภาคธุรกิจช่วยกัน ในส่วนนี้จะช่วยให้จีดีพีขยายตัวเพิ่มอีกไม่น้อยกว่า 1% เป็นกำไรที่ภาคธุรกิจจะได้เพิ่มขึ้นด้วย”

นายอาคม กล่าวต่อว่า ปัจจัยที่มีความท้าทายเศรษฐกิจไทยในอนาคตมีอยู่ 3-5 เรื่อง คือ 1.การนำนโยบายการเงิน การคลัง ดูแลเศรษฐกิจมหภาคต้องควบคู่กัน โดยจะต้องมองทั้ง 2 เรื่อง คือ การเติบโต และความยั่งยืน ซึ่งหมายถึงดูแลอัตราเงินเฟ้อ และอัตราการว่างงาน ซึ่งมีแนวโน้มดีขึ้นหลังจากเปิดประเทศ ว่างงานมีอัตราเฉลี่ย 1% แต่ยังมีช่องว่างที่จะลดอัตราการว่างงานลงได้ เช่น การเพิ่มทักษะในอาชีพใหม่ๆ

2.การดูแลเรื่องการจัดเก็บรายได้ ต้องมีการปฏิรูปการจัดเก็บ ที่ผ่านมารายได้รัฐมีสัดส่วนเพียง 43% ของจีดีพี ซึ่งถือว่าน้อยมาก ทำให้การจัดสรรทรัพยากรดูแลประชาชนมีข้อจำกัด อีกทั้งในระยะต่อไปจะเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ที่ 24% ของจำนวนประชากรทั้งหมดคือผู้สูงอายุ ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถทำงบประมาณแบบขาดดุลต่อเนื่องได้ยาวนาน 10-20 ปีอีกแล้ว เพราะจะทำให้ต้องมีการกู้ชดเชยขาดดุลเพิ่มขึ้น ระยะต่อไปรัฐบาลมีเป้าหมายลดการขาดดุลให้ต่ำกว่า 3% ของจีดีพี

3.การผลักดันให้เศรษฐกิจไทย มุ่งสู่เศรษฐกิจใหม่ หรือ New Economy หรืออาจเรียกว่า ทรงใหม่ ไทยแลนด์ ทั้งการผลักดันเขตเศรษฐกิจพิเศษ พื้นที่อีอีซี ที่เป็นเป้าหมายของรัฐบาลในการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ 12 ประเภท การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซอฟท์พาวเวอร์ และเร่งดึงการลงทุนดิจิทัลมาในประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการเปิดดาต้า เซ็นเตอร์ ที่ไทยมีความได้เปรียบ มี 11 บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนแล้ว และมีบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกอีก 1 รายเตรียมมาลงทุน ซึ่งต้องให้การสนับสนุนในเรื่องมาตรการภาษี และลองเทอมวีซ่า เป็นต้น

4.การเตรียมรับมือกับสภาวะโลกร้อน โดยในส่วนของการทำนโยบาย มีการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า มีการช่วยเหลือเรื่องมาตรการภาษี เพื่อให้ราคาขายรถยนต์ไฟฟ้า ไม่แตกต่างจากราคารถยนต์สันดาปมาก รวมทั้งมีการสนับสนุนเงินให้กับผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า และ 5.การลดการใช้พลังงานฟอสซิล มาใช้พลังงานทางเลือกเพิ่มขึ้น

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน