หอการค้าไทย เผยผลสำรวจหนี้ครัวเรือนไทยปีนี้สูงถึง 5 แสนบาท/ครัวเรือน เหตุค่าครองชีพแพง สูงสุดในรอบ 16 ปี คาดสิ้นปียอดหนี้สะสมทะลุ 14.9 ล้านล้านบาท

วันที่ 25 ส.ค.65 นางอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจสถานภาพหนี้ครัวเรือนไทยปี 2565 ว่า 99.6% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่ามีหนี้ครัวเรือน อีก 11.9% ไม่มี ส่วนใหญ่เป็นหนี้ส่วนบุคคล และหนี้บัตรเครดิต รองลงมาคือหนี้ซื้อยานพาหนะ, การศึกษาและที่อยู่อาศัย

ปัจจุบันมีหนี้ครัวเรือน 501,711 แสนบาท/ครัวเรือน เพิ่มขึ้น 3.7% แบ่งเป็นหนี้ในระบบ 78.9 % และนอกระบบ 21% มีอัตรการผ่อนชำระ 12,801 บาท/เดือน เพิ่มขึ้น 8.49% ทั้งนี้ส่วนใหญ่ 60% มีการก่อหนี้เพิ่มสูงขึ้น สาเหตุส่วนใหญ่ 20.5% ตอบว่าค่าครองชีพสูงขึ้น, 15.1% รายได้ไม่พอกับรายจ่าย, 14.7% ผ่อนสินค้ามากเกินไปและ12.7% มีการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมาก

โดยช่วง 1 ปีที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่ 65.9% เคยประสบปัญหาขาดการผ่อนชำระ และ 34.1% ไม่เคย ส่วนสาเหตุหลัก 48.8% ตอบว่าเพราะเศรษฐกิจไม่ดี, 26.2 % รายได้ลดลง, 19% มียอดชำระเพิ่มขึ้น, 4.9% ตกงาน และ 1.1% อื่นๆ โดยเสนอแนะให้รัฐบาลช่วยหาแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ, ให้ความรู้ในการบริหารหนี้, เพิ่มสวัสดิการให้กับผู้มีรายได้น้อย เป็นต้น

นายวิเชียร แก้วสมบัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์ฯ กล่าวถึงแนวโน้มสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีว่าช่วงก่อนการระบาดโควิด-19 ไตรมาส 1 ปี 2563 อยู่ที่ 80.3% ภายใน 1 ปี สัดส่วนหนี้ครัวเรือนปรับเพิ่มขึ้น 10% เพิ่มแบบก้าวกระโดดทำสถิติสูงสุด 90.9% ของจีดีพีในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2564 เนื่องจากการเป็นช่วงที่จีดีพีหดตัวต่ำ และล่าสุด ณ ไตรมาส 1 ปี 2565 ปรับลดลงมาอยู่ที่ 89.2% ของจีดีพี คิดเป็นมูลค่า 14,645,228 ล้านบาท ถือว่าเป็นตัวเลขสูงสุดเป็นอันดับที่ 11 ของโลก คาดการณ์ว่าภายในปีนี้หนี้ครัวเรือนของไทยจะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 14,974,078 ล้านบาท คิดเป็น 89.3% ของจีดีพี

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์ฯ กล่าวว่า ตัวเลขหนี้ครัวเรือนเฉลี่ย 5 แสนบาท/ครัวเรือนนั้น ถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ หรือสูงสุดในรอบ 16 ปี แต่ยังไม่น่ากังวลนักเนื่องจากส่วนใหญ่เป็นหนี้ในระบบ ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และมีระบบจัดการความเสี่ยง ไม่ใช้หนี้ใช้เงินเกินตัว

แต่จะส่งผลกระทบฉุดให้เศรษฐกิจโตไม่โดดเด่น เพราะการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภคจะทำได้ยากมากขึ้น ส่วนสัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยซึ่งอยู่ระดับ 80-90% ของจีดีพีนั้นถือว่ายังสูง ดังนั้นหลังจากนี้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภคอาจจะไม่จำเป็น โดยในระยะยาวรัฐบาลและเอกชนจะต้องหันมากระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการด้านการลงทุนให้มากขึ้น เพื่อให้คนมีรายได้เพิ่มขึ้นสามารถจับจ่ายใช้สอย เพื่อให้เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะที่ปลอดภัยมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม คาดว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือต่อจีดีพีของไทยจะปรับลดลงต่อเนื่อง จากระดับ 90% ในปัจจุบันลงมาอยู่ที่ระดับ 80% ได้ภายใน 5 ปี หากเศรษฐกิจไทยในช่วง 5 ปีข้างหน้า สามารถขยายตัวในอัตราเฉลี่ยที่ไม่ต่ำกว่า 6.2% ซึ่งไม่ง่ายนัก

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน