นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน กล่าวในโอกาสนำคณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพลังงานได้เดินทางลงพื้นที่ตรวจราชการใน จ.อุบลราชธานี และจ.ศรีสะเกษ เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2561 ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) โดยกระทรวงพลังงานได้ติดตามโครงการการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการสูบน้ำให้กับเกษตรกรในพื้นที่ห่างไกล โดยตรวจเยี่ยมโครงการระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์สู้ภัยแล้ง (ระบบเกษตร) ณ กลุ่มเกษตรกรบ้านหนองห้าง ต.หนองห้าง อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ ระดมสมองกับชาวบ้านพัฒนาโครงการสร้างการเรียนรู้ สร้างการมีส่วนร่วมแบบไทยนิยมยั่งยืน ซึ่งระบบสูบน้ำเพื่อการเกษตรดังกล่าว จะช่วยสูบน้ำจากบ่อบาดาลโดยใช้เครื่องสูบน้ำพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ ช่วยเกษตรกรในพื้นที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในการจัดหาน้ำเพื่อการเพาะปลูกพืชที่สำคัญๆ อาทิ กระเทียม หัวหอม ที่สามารถสร้างรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

ทั้งนี้ มีการสาธิตช่วยกลุ่มเกษตรกร ในการกรอกข้อมูลทำคำขอติดตั้งระบบการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการสูบน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรสู้ภัยแล้ง ให้กับเกษตรกรในพื้นที่ที่ห่างไกล เพื่อสร้างความมั่นคงด้านรายได้และความกินดีอยู่ดีของประชาชนในชนบท ที่จะมีน้ำใช้เพื่อกิจการการเกษตรถึงแม้จะมีภัยแล้ง

โดยสำนักงานกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้ประกาศหลักเกณฑ์การให้การสนับสนุนระบบการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการสูบน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรสู้ภัยแล้งให้กับกลุ่มเกษตรกรที่จะรวมตัวกันเกิน 7 ครัวเรือน ในพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 5 ไร่ และมีน้ำบาดาลจำนวน 5,000 จุดทั่วประเทศ และร่วมกับ กอ.รมน. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำการสาธิตติดตั้งของกลุ่มเกษตรกร อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ ซึ่งมีกลุ่มเกษตรกรรวมทั้งสิ้นทั้งจาก ศรีสะเกษ ยโสธร บุรีรัมย์ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ มหาสารคาม เข้ามาร่วมรวมทั้งหมด 140 กลุ่ม ทำการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับโครงการฯ และร่วมกันกรอกข้อมูล

“ตั้งเป้าหมายที่จะช่วยเกษตรกรในการติดตั้งระบบทั้งหมด 5,000 จุด ภายในปีนี้ งบประมาณ 3,000 ล้านบาท เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร 35,000 ครัวเรือน ให้มีความมั่นคงในการดำเนินชีวิต และมีรายได้จากการเกษตรที่มั่นคง สนใจติดต่อได้ที่ 0-2612-1555 ต่อ 370 หรือ 214 ระยะเวลาโครงการตั้งแต่บัดนี้จนถึง 10 ส.ค. 2561 นี้”

นอกจากนี้ ยังได้ติดตามความก้าวหน้าโครงการผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) ในการริเริ่มระบบผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำขนาด 250 กิโลวัตต์ อีกทั้ง กฟผ. ยังร่วมกับบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ดำเนินโครงการนำร่อง Hydro floating Solar Hybrid ขนาด 45 เมกะวัตต์ พื้นที่ 450 ไร่ สามารถผลิตไฟฟ้าเฉลี่ยประมาณ 89 ล้านหน่วยต่อปี ซึ่งเป็นการบริหารจัดการที่เชื่อมโยงกับระบบเขื่อนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยการผลิตไฟฟ้าสามารถสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งในช่วงเวลากลางวันและช่วงหัวค่ำ ได้เพิ่มมากขึ้นตามกำลังศักยภาพสูงสุดของแต่ละเขื่อน

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน