บรรทัดฐานใหม่คดีโลกร้อน ศาลยุโรปฟันรบ.สวิสละเมิดสิทธิประชาชน

บรรทัดฐานใหม่คดีโลกร้อน – วันที่ 9 เม.ย. บีบีซีรายงานว่า ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปชี้ความพยายามของรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ที่ไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง หรือโลกร้อน ถือเป็นการละเมิดสิทธิประชาชน

บรรทัดฐานใหม่คดีโลกร้อน

ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป เมืองสตราสบูร์ก แคว้นอัลซาส ประเทศฝรั่งเศส (รอยเตอร์)

คำตัดสินดังกล่าวส่งผลให้กลุ่มหญิงผู้อาวุโสวัย 70 ปีเศษ ที่เป็นผู้ยื่นฟ้องรัฐบาลต่อศาลดังกล่าวได้รับชัยชนะในคดีโลกร้อนข้างต้น นับเป็นชัยชนะของภาคสังคมในคดีเกี่ยวกับโลกร้อนในศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปครั้งแรก

รายงานระบุว่า คำพิพากษาข้างต้นนั้นผูกมัดทางกฎหมายและจะส่งอิทธิพลใหญ่หลวงต่อรัฐบาลชาติยุโรป 46 ประเทศ รวมถึงสหราชอาณาจักรให้ปรับปรุงกฎหมายและยกระดับความพยายามในการดำเนินแผนงานให้เป็นไปตามเป้าหมายของการแก้ไขโลกร้อน

บรรทัดฐานใหม่คดีโลกร้อน

กลุ่มผู้อาวุโสหญิงพิทักษ์ภูมิอากาศโลกให้สัมภาษณ์หลังชนะคดีที่ต่อสู้มานานถึง 9 ปี สร้างบรรทัดฐานคดีโลกร้อนใหม่ (รอยเตอร์)

ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป ระบุว่า ความพยายามในการบรรลุเป้าหมายการแก้ไขโลกร้อนของทางการสวิสนั้นไม่เพียงพอ เนื่องจากล้มเหลวในการปฏิบัติตามอนุสัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ด้วยเหตุดังกล่าว ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปถือว่า รัฐบาลสวิสละเมิดสิทธิ และไม่เคารพต่อสิทธิส่วนบุคคลที่จะมีชีวิตและมีครอบครัว นอกจากนี้ ศาลยังพบช่องว่างที่ร้ายแรงทางด้านนโยบายจำนวนมาก อาทิ ความล้มเหลวในการเก็บรวบรวมข้อมูลก๊าซก่อโลกร้อนที่สามารถลดได้

กลุ่มผู้อาวุโสหญิงพิทักษ์ภูมิอากาศโลก

กองเชียร์ช่วยลุ้นที่ด้านนอกศาล (รอยเตอร์)

กลุ่มผู้อาวุโสที่เป็นฝ่ายโจทก์ กล่าวด้วยความตกตะลึงกับการตัดสินของศาลว่า “แทบไม่อยากจะเชื่อเลยล่ะค่ะ นี่เราชนะจริงเหรอ พวกดิฉันถามทนายของเราหลายครั้ง แล้วทนายก็บอกว่าใช่ ชนะแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินเลยล่ะ”

ชัยชนะดังกล่าวมีน.ส.เกรียตา ธุนแบร์ย นักเคลื่อนไหวปัญหาโลกร้อนจากประเทศสวีเดน เดินทางมาร่วมแสดงความยินดีกับกลุ่มผู้อาวุโสหญิงพิทักษ์ภูมิอากาศโลก (Senior Women for Climate Protection) ที่ศาลด้วย

กลุ่มผู้อาวุโสหญิงพิทักษ์ภูมิอากาศโลก

เกรียตา ธุนแบร์ย นักเคลื่อนไหวต่อต้านโลกร้อนเดินทางมาแสดงความยินดี (รอยเตอร์)

กลุ่มผู้อาวุโสหญิง ระบุต่อศาลว่า สถานการณ์คลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นทำให้พวกตนไม่สามารถออกจากบ้านได้ และยังทำให้สุขภาพของพวกตนได้รับผลกระทบด้วย

ขณะที่ข้อมูลจากหน่วยบริการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโคเปอร์นิคัส (C3S) เพิ่งเผยให้เห็นว่า เดือนมี.ค. ที่ผ่านมานั้นเป็นเดือนมี.ค. ที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงที่สุดตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลมา ส่งผลให้โลกเผชิญกับสถิติเดือนที่ร้อนที่สุดติดต่อกัน 10 เดือนรวดแล้ว (เทียบกับเดือนเดียวกัน)

กลุ่มผู้อาวุโสหญิงพิทักษ์ภูมิอากาศโลก

เกรียตา ธุนแบร์ย นักเคลื่อนไหวต่อต้านโลกร้อน ชาวสวีเดน (รอยเตอร์)

กลุ่มผู้อาวุโสหญิงข้างต้นซึ่งมีสมาชิกกว่า 2 พันคน จึงเป็นโจทก์ยื่นฟ้องร้องรัฐบาลของตัวเองต่อศาลตั้งแต่เมื่อ 9 ปีที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายเพื่อบีบให้รัฐหันมาปกป้องสุขภาพของหญิงสูงวัยและประชาชนทั่วไปจากโลกร้อน

ประธานาธิบดีหญิงวิโอลา แอมเฮิร์ด ผู้นำสวิตเซอร์แลนด์ กล่าวว่า ต้องขอเวลาศึกษารายละเอียดคำตัดสินของศาลก่อนจึงจะสามารถแสดงความเห็นใดๆ ได้ต่อคำพิพากษาที่เกิดขึ้น แต่ย้ำว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับความยั่งยืน ความหลากหลายทางชีวภาพ และเป้าหมายการเป็นชาติที่มีรอยเท้าคาร์บอน (Carbon footprint) เป็นศูนย์

สมาชิกกลุ่มผู้อาวุโสหญิงพิทักษ์ภูมิอากาศโลก ระบุว่า เข้าใจว่าบางคนก็สามารถทนได้ แต่พวกเราทนไม่ได้ แม้คงจะไม่อยู่บนโลกนี้กันอีกแล้วในอีก 10 ปีข้างหน้า แต่ทั้งหมดที่ทำไปก็เพื่อลูกๆ หลานๆ และคนรุ่นถัดๆ ไป

ทั้งนี้ รัฐบาลส่วนใหญ่ของโลกนั้นต่างเป็นภาคีอนุสัญญาฯแก้โลกร้อนที่มีเป้าหมายให้ทุกชาติลดการปล่อยก๊าซก่อโลกร้อนลงอย่างมหาศาล ทว่า นักวิทยาศาสตร์เตือนว่า ความคืบหน้าของแต่ละชาตินั้นล่าช้า และโลกยังไม่มีทีท่าจะเดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่ขีดเส้นตายไว้ไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกทะลุ 1.5 องศาเซลเซียส ก่อนสิ้นคริสต์ศตวรรษที่ 21

ติดตามข่าวสด

ข่าวเด่นประจำวัน